หมากเม่า คือ


การเรียกชื่อหมากเม่า
            หมากเม่า เป็นภาษาอีสานใช้เรียกชื่อไม้ผลชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนภาคอื่นในประเทศไทยเรียกว่า เม่า มีชื่อวิทยาศาสตร์ Antidesma thwaitesianum Muell. Arg. วงศ์  Euphorbiaceae ตระกูล(Family) สติลาจินาเซียอี(Stilainaceac) สกุล(Genus) แอนติเดสมา(Antidesma)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
            หมากเม่า หรือเม่าหลวง จัดเป็นไม้ยืนต้นที่ไม่พลัดใบ ลำต้นสูงประมาณ 6-15 เมตร ออกดอกเป็นช่อที่ปลายยอดกิ่ง ช่อดอกคล้ายช่อพริกไทย ดอกจะแยกเพศต่างต้น ออกดอกปีละ ครั้งในเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ใบเป็นใบเดี่ยวสีเขียวเข้ม มีการเรียงตัวแบบสลับ ผลหมากเม่าจัดเป็นไม้ผลชนิดฉ่ำน้ำ ขนาดผลรูปวงรี กว้าง 0.7-1.0 เซนติเมตร ยาว 0.8-1.3 เซนติเมตร ก้านผลยาว 0.3-0.5 เซนติเมตร ผลอ่อนมีสีเขียวหรือสีขาวนวล ผลเริ่มแก่มีสีแดง ผลสุกมีสีดำ ผลดิบมีรสเปรี้ยว ผลสุกมีรสหวานอมเปรี้ยวและฝาด ลักษณะของช่อผลจะยาวหรือสั้น ผลดก ลูกเล็กหรือลูกใหญ่ ผลมีรสหวาน รสฝาด หรือเปรี้ยว ขึ้นอยู่กับลักษณะของสายพันธุ์ต้นหมากเม่าของแต่ละต้น การติดผลติดปีเว้นปี  ผลเมื่อสุกแก่เต็มที่เมล็ดสีน้ำตาล เมล็ดมีการพักตัวใช้เวลางอกหลังเพาะ 1-3 เดือน ผลสุกระหว่างปลายเดือนกรกฎาคม สุกเต็มที่เดือนสิงหาคม และเริ่มวายในเดือนกันยายนของทุกปี
หมากเม้าที่มีผลเกือบจะสุก
ลักษณะลำต้นของต้นหมากเม้า
ต้นนี้มีความสูงประมาณ 6.00 เมตร
กำลังออกลูกให้เจ้าของบ้านได้เชยชม
ลักษณะของลูกที่ยังเขียว
ลูกที่กำลังเหิ่ม
ลูกที่กำลังสุก
ผลิตภัณฑ์ ไวน์หมากเม่า


ที่มาและความสำคัญของหมากเม่า

                 หมากเม่าหรือมะเม่าเป็นไม้ผลท้องถิ่นทางภาคอีสาน โดยเฉพาะในเขตเทือกเขาภูพาน จังหวัดสกลนครเป็นไม้ผลเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ  พบในเขตท้องที่ของอำเภอภูพาน ซึ่งมีชาวบ้านที่มีอาชีพหาของป่าขาย ได้นำผลหมากเม่าในป่าออกมาวางขายตามตลาดข้างทาง ถนนสาย 213
              สกลนคร-กาฬสินธุ์ในช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนตุลาคม เป็นประจำทุกปี และหลายปีที่ผ่านมาได้มีการศึกษาและพัฒนาแปรรูปผลิตภัณฑ์จากหมากเม่า  ของสถาบันวิจัยและฝึกอบรมการเกษตรสกลนครของสถาบันเทคโนโลยีราชมงคลวิทยาเขตสกลนคร ได้ทราบว่านอกจากหมากเม่าจะรับประทานได้ทั้งผลดิบ   และสุกแล้ว หมากเม่าแปรรูปเป็นอาหารได้หลายชนิดเช่น น้ำผลไม้ แยม และทำไวน์ที่มีคุณภาพสูงอีกด้วย
              จากความรู้และประสบการณ์ดังกล่าว ทำให้เกษตรกรเริ่มสนใจที่จะคัดเลือกพันธุ์หมากเม่า และปรับปรุงพันธุ์ให้ได้ลักษณะที่โดดเด่นคือให้ผลดก  ผลมีขนาดใหญ่   สุกพร้อมกัน ช่อของผลยาวและมีผลถี่ ลำต้นทนทานต่อโรคและแมลง เกษตรกรที่มีความสนใจในเขตตำบลสร้างค้ออำเภอภูพานได้ออกเดินป่าไปเสาะแสวงหาต้นหมากเม่า ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติในเขตอุทยานแห่งชาติภูพาน พร้อมกับได้สังเกตและได้ทำการคัดเลือกพันธุ์หมากเม่า 
                จากช่วงฤดูกาลที่หมากเม่าให้ผลผลิต จนสามารถคัดเลือกพันธุ์ที่มีคุณสมบัติที่ดีตรงกับที่ต้องการ และได้นำเมล็ดหมากเม่ามาเพาะเป็นต้นตอ ทำการขยายพันธุ์โดยวิธีทาบกิ่ง ติดตา และเสียบยอด นำมาปลูกทดลองจนหมากเม่าให้ผลผลิตนำไปจำหน่าย ได้ในราคาที่สูงคือประมาณกิโลกรัมละ 30-60 บาท เป็นค่าตอบแทนที่คุ้มค่า บ้านสร้างค้อมีเกษตรกรที่มีความสนใจ ในการปลูกและขยายพันธุ์หมากเม่าจำนวนหลายราย 2 รายในจำนวนนั้นคือ นายขาน แก้วอุ่นเรือน  กับ นายทองเว เพียรภายลุน  ได้รวมกลุ่มจากผู้ที่สนใจปลูกหมากเม่าด้วยกัน ตั้งเป็นกลุ่มอาชีพการเกษตรปลูกหมากเม่า ตั้งชื่อกลุ่มว่า กลุ่มหมากเม่าภูโซงสร้างค้อ
               โดยได้รับการสนับสนุนจัดตั้งกลุ่มจาก นายคนพ วรรณวงศ์ ซึ่งเป็นข้าราชการครูสังกัดโรงเรียนชุมชนบ้านสร้างค้อ ซึ่งมีสมาชิกจำนวนหลายคน ได้ทำการคัดเลือกพันธุ์หมากเม่าในเขตท้องถิ่นได้จำนวน 2 ลักษณะสายพันธุ์คือ
               1.ลักษณะใบกว้างมนใหญ่ มีทั้งใบยาวและใบสั้น มีขนาดผลใหญ่ถี่ ช่อผลยาวพันเป็นเกลียว ความยาวของพวงผลประมาณ 15 เซ็นติเมตรขึ้นไปได้แก่ 
         พันธุ์ฟ้าผ่าหรือพันธุ์ฟ้าประทาน พันธุ์สร้างค้อ 1 พันธุ์สร้างค้อ 2 พันธุ์สร้างค้อ 3 พันธุ์ลมพัด พันธุ์ภูโซง พันธุ์เพชรหนองแซง พันธุ์ชมภูพาน 
         พันธุ์คำไหล                        
               2.ลักษณะใบแคบเล็กยาว มีใบห่างผลใหญ่แต่ผลห่าง ยอดมีสีเหลืองอ่อน ช่อดอกยาว ช่อผลยาว 12 เซ็นติเมตรขึ้นไป ผลสุกดำพร้อมกันได้แก่พันธุ์ตาควยและพันธุ์แสนโฮม

ประโยชน์และคุณค่า

คุณค่าทางโภชนาการหมากเม่า
คุณค่าทางโภชนาการของหมากเม่า จากผลการวิเคราะห์ของกองวิทยาศาสตร์ชีวภาพ กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์
เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ในปี พ..2539 พบว่าในผลหมากเม่าสุกประกอบด้วย
โปรตีน 0.63 กรัมต่อ 100 กรัม
เหล็ก 0.44 กรัมต่อ 100 กรัม
ไขมัน 0.09 กรัมต่อ 100 กรัม
วิตามิน B1 4.50 ไมโครกรัมต่อ 100 กรัม
วิตามิน B2 0.03 ไมโครกรัมต่อ 100 กรัม
วิตามิน E 0.38 อินเตอร์เนชั่นแนลยูนิตต่อ 100 กรัม
คาร์โบไฮเครท 17.96 กรัมต่อ 100 กรัม
แคลเซียม 13.30 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม
เยื่อใย 0.79 กรัมต่อ 100 กรัม
และนอกจากนี้ผลมะเม่าสุกจะมีสารแอนโทไซยานิน(Anthocyanin)ที่ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระป้องกันมะเร็ง ช่วยขจัดสารพิษออกจากร่างกาย และยังช่วยชะลอความแก้ชราได้อีกด้วยรสฝาดของ
ผลมะเม่าสุกจะมีสารฟลาโวนอยด์ (Flavonoid)ซึ่งมีคุณสมบัติในการช่วยยับยั้งไม่ให้ผนังหลอดเลือดเสื่อมหรือเปราะง่าย รสขมของมะเม่าจะมีสารแทนนิน(Tannin)ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยทำให้เกล็ดเลือดจับตัวกันน้อยลงจึงมีส่วนช่วยป้องกันโรคหัวใจล้มเหลวได้ทั้งห้าส่วนของมะเม่าใช้ต้มดื่มเป็นประจำเป็น
อายุวัฒนะได้ (ผล,ราก,ต้น,ใบ,ดอก)
น้ำมะเม่าสกัดเข้มข้นใช้เป็นอาหารบำรุงสุขภาพได้ดีเหมือนน้ำลูกพรุนสกัดเข้มข้นทีjมีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างมาก ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ มะเม่ามีศักยภาพในการช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันและยังมีฤทธิ์ต้านเชื่อ HIV อีกด้วย (กัมมาลและคณะ (2546) ช่วยบำรุงสายตา(ผลสุก) ช่วยแก้กษัย(ต้น,ราก) 
มีสรรพคุณทางยาช่วยขับเสมหะ (ผลสุก) ผลมีสรรพคุณเป็นยาระบาย (ผลสุก) ช่วยขับปัสสาวะ (ต้น,ราก)
ช่วยแก้มดลูกพิการ (ต้น,ราก) ช่วยแก้มดลูกอักเสบช้ำบวม (ต้น,ราก)
ช่วยแก้อาการตกขาวของสตรี (ต้น,ราก) ช่วยขับน้ำคาวปลา (ต้น,ราก) ช่วยบำรุงไต (ต้น,ราก) ช่วยแก้เส้นเอ็นพิการ (ต้น,ราก) ช่วยแก้และบรรเทาอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย (ต้น,ราก) ใบมะเม่านำไปอังไฟแล้วนำมาประคบใช้รักษาอาการฟกช้ำดำเขียวได้ (ใบ) ใบสดนำมาตำใช้พอกรักษาแผลฝีหนองได้ (ใบ) หมากเม่า ประโยชน์ผลสุกใช้รับประทานเป็นผลไม้ได้ หรือจะนำมาทำเป็นส้มตำมะเม่าก็ได้เช่นกันยอดอ่อนของมะเม่าใช้รับประทานเป็นผักสดได้(ยอดอ่อน) ประโยชน์ของหมากเม่า สามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลายอย่าง เช่น แยม น้ำผลไม้ หรือนำไปทำเป็นไวน์เกรดคุณภาพสูง เป็นต้น
คุณค่าทางด้านสมุนไพร
การบริโภคผลหมากเม่าสุกในปริมาณที่พอเหมาะ มีสรรพคุณเป็นยาระบาย ช่วยบำรุงสายตา ขับเสมหะ ฟอกโลหิต ใช้ใบหมากเม่านำไปอังไฟแล้วนำมาประคบ
จะรักษาอาการฟกช้ำดำเขียวได้ ใบหมากเม่าสดนำมาตำพอกรักษาแผลฝีหนอง นำเอาหมากเม่าทั้งห้าคือ ราก ลำต้น ใบ ดอก ผล ต้มดื่มเป็นประจำเป็นยาอายุวัฒนะยอดอ่อนหมากเม่ายังนำมารับประทานเป็นผักได้
คุณค่าทางโภชนาการของผลมะเม่า ต่อ 100 กรัม
·         พลังงาน 75.2 กิโลแคลอรี
·         โปรตีน 0.63 กรัม
·         เส้นใย 0.79 กรัม
·          คาร์โบไฮเดรต 17.96 กรัม
·         กรดแอสพาร์ติก 559.43 มิลลิกรัม
·         ทรีโอนีน 227.47 มิลลิกรัม
·         ซีรีน 285.75 มิลลิกรัม
·         กรดกลูตามิก 618,62 มิลลิกรัม
·         โพรลีน 234.94
·         ไกลซีน 250.23 มิลลิกรัม
·         อะลานีน 255.17 มิลลิกรัม
·         วาลีน 57.36 มิลลิกรัม
·         ซีสทีน 274.60 มิลลิกรัม
·         เมทไธโอนีน 22.87 มิลลิกรัม
·         ไอโซลิวซีน 226.78 มิลลิกรัม
·         ลิวซีน 392.53 มิลลิกรัม
·         ไทโรซีน 175.17 มิลลิกรัม
·         ฟีนิลอะลานีน 317.70 มิลลิกรัม
·         ฮีสติดีน 129.43 มิลลิกรัม
·         ไลซีน 389.08 มิลลิกรัม
·         อาร์จินีน 213.33 มิลลิกรัม
·         ทริปโตเฟน 189.00 มิลลิกรัม
·         วิตามินบี1 4.50 ไมโครกรัม
·         วิตามินบี2 0.03 ไมโครกรัม
·         วิตามินซี 8.97 มิลลิกรัม
·         วิตามินอี 0.38 ไมโครกรัม
·         ธาตุแคลเซียม 13.30 มิลลิกรัม
·         ธาตุเหล็ก 1.44 มิลลิกรัม

พันธุ์หมากเม่า

พันธุ์ฟ้าประทาน
             เจ้าของต้นพันธุ์คือ นายขาน แก้วอุ่นเรือน ลักษณะประจำพันธุ์คือ ใบกว้างมนใหญ่ ใบถี่สีเขียวเข้ม ยอดมีสีแดงอ่อน กิ่งมีสีน้ำตาลแก่ ตายอดมีขนาดใหญ่สีน้ำตาลแก่  การแทงยอดอ่อนไม่ตรงจะหัก ขวาหรือซ้าย แล้วจะเหยียดตรงเมื่อเป็นยอดแก่ ผลมีขนาดใหญ่เกือบเท่าผลมะเขือพวง เปลือกหนา ช่อผลยาวประมาณ15-28 เซนติเมตร มีผลถี่และช่อผลบิดเป็นเกลียวช่วงปลายช่อ ผลสุกสีดำพร้อมกันทั้งช่อ ขั้วผลเหนียวไม่หล่นง่าย ผลมีรสหวานประมาณ 22 Briz.และรสฝาดมีกลิ่นหอม มีน้ำในเนื้อผลปานกลาง สีของเนื้อผลเป็นสีม่วงเข้ม   ข้อเสียหมากเม่าพันธุ์นี้คือ มีหนอนและแมลงที่เป็นศัตรูชอบเข้าทำลายทั้งใบ ยอดอ่อน โคนต้นมากกว่าหมากเม่าพันธุ์อื่น เนื่องมาจากเปลือกของหมากเม่าพันธุ์นี้มีรสหวานมากกว่าพันธุ์อื่น สีผิวของผลไม่เรียบมัน กิ่งเปราะหักง่ายเพราะมีใบหนาขนาดใหญ่ มีน้ำหนักมาก ทรงพุ่มเตี้ยกว้างไม่สูง ลักษณะใบจะซ่อนผลกล่าวคือ ใบมนใหญ่หนาและถี่เวลาติดผลจะมองไม่เห็นช่อผล ดูแล้วคล้ายไม่มีผลต้องเข้าไปดูใกล้ๆหรือใต้โคนต้นจึงมองเห็นผล จุดเด่นสามารถแทงช่อดอกได้1-3 ช่อในยอดเดียวกัน ต้นพ่อพันธุ์หมากเม่าฟ้าประทานหรือฟ้าผ่านี้ ปัจจุบันตายแล้วเพราะถูกฟ้าผ่า ซึ่งเป็นสายพันธุ์เดียวกันกับพันธุ์นางเสงี่ยม เถาว์ชารี บ้านสร้างค้อหมู่ 1 ที่ชนะเลิศประเภทผลหมากเม่า ในงานวันหมากเม่าสกลนครครั้งที่ 1 จัดในวันที่ 22-24 สิงหาคม 2545 ที่หอประชุมเทศบาลสกลนคร โดยมีนายสีนวล ทุมแสง บ้านชมภูพาน มาซื้อเหมาผลหมากเม่าทั้งต้น เป็นคนส่งเข้าประกวดแทนนางเสงี่ยม เถาว์ชารี เพราะเมื่อประมาณ 30 ปีที่ผ่านมานางเสงี่ยม เถาว์ชารี ได้นำเมล็ดพันธุ์มาจากป่าในเขตอุทยานแห่งชาติภูพาน บริเวณภูโซงด้านทิศตะวันตกของหมู่บ้านสร้างค้อมาปลูกโดยเป็นสาย  พันธุ์ต้นเดียวกันกับนายขาน แก้วอุ่นเรือน ไปทาบกิ่งจากต้นที่มีเกษตรกรนำเมล็ดมาปลูกที่บ้านนายอจากภูโซงและถูกฟ้าผ่าตาย ซึ่งนายขาน แก้วอุ่นเรือน ส่งเข้าประกวดได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 และต้นพันธุ์ที่นางกัลยา จริตน้อม ที่ได้ส่งผลหมากเม่าเข้าประกวดชนะรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่  โดยได้ไปเหมาซื้อผลหมากเม่าของนายบุญเรือง ข่วงทิพย์ ซึ่งได้ซื้อกิ่งทาบจากนายขาน แก้วอุ่นเรือน ไปปลูกสรุปได้ว่า พันธุ์หมากเม่าทั้ง 3 ต้นที่ส่งเข้าประกวดได้รางวัลที่ 1,2,3 มาจากสายพันธุ์ต้นเดียวกันคือ ต้นแม่อยู่ที่นาภูโซงของนายเก่ง ดวงสุทา อายุของต้นพันธุ์ประมาณ 150 ปี ปัจจุบันยังมีชีวิตอยู่ ต้นมีความสูงประมาณ 30 เมตร โคนต้นวัดรอบได้ประมาณ 250 เซนติเมตร ทางกลุ่มหมากเม่าภูโซงสร้างค้อได้ตั้งชื่อต้นหมากเม่าต้นนี้คือ พันธุ์ภูโซง
หมากเมาพันธุ์สร้างค้อ 1
            เจ้าของต้นพันธุ์คือนายสมพงษ์ โสสุทธิ์ บ้านสร้างค้อ อำเภอภูพาน จังหวัดสกลนครลักษณะใบมนหนาใหญ่ ใบเป็นมันวาว ใบแข็งกว่าทุกพันธุ์ ยอดมีสีแดงอ่อน ลักษณะผลกลมใส สุกพร้อมกันขั้วผลเหนียวมากสามารถจับช่อผลที่สุกเขย่าโดยที่ไม่มีผลหล่นเลย เนื้อผลหนาแน่น มีรสหวานสนิทฝาด 
ผลมีขนาดใหญ่ใกล้เคียงกันกับพันธุ์ฟ้าประทาน ช่อผลยาวประมาณ 15-25 เซนติเมตร หมากเม่าพันธุ์นี้เคยได้รับรางวัลชนะเลิศงานวันผลไม้อำเภอภูพาน ประจำปี 2546 มาแล้ว ถือว่าหมากเม่าพันธุ์นี้เป็นพันธุ์ที่เหมาะในการปลูกทำไวน์อีกพันธุ์หนึ่ง
หมากเม่าพันธุ์คำไหล
              เจ้าต้นพันธุ์คือนายแซม นิลโคตร บ้านโพธิ์ชัยพัฒนา ตำบลสร้างค้อ อำเภอภูพาน 
จังหวัดสกลนคร ลักษณะใบมนกว้างยาวใหญ่สีเขียวแก่  ขอบใบมีรอยหยักทั้งสองข้าง ยอดมีสีเหลืองอ่อน ผลกลมมีขนาดใหญ่ใส ขั้วผลสั้นเหนียวไม่หล่นง่าย ผลสุกสีม่วงดำคล้ำ รสหวานฝาด ช่อผลยาวประมาณ 12-20 เซนติเมตร หมากเม่าพันธุ์นี้เมื่อนำมาปั่นผสมน้ำแล้วให้สีม่วงดีมาก จึงเหมาะที่จะปลูกเพื่อแปรรูปทำไวน์และน้ำผลไม้อีกพันธุ์หนึ่ง
หมากเม่าพันธุ์ชมภูพาน
              เจ้าต้นพันธุ์คือนางผาลี วงศ์วันศรี บ้านดอนแคน ตำบลสร้างค้อ อำเภอภูพาน จังหวัดสกลนคร ลักษณะใบมนกว้างยาวใหญ่  ยอดสีเหลืองอ่อน ผลกลมใหญ่ใส รสหวานอมเปรี้ยว ให้ผลดกติดผลทุกปี ผลอ่อนมีสีเหลืองอ่อน ช่อผลยาวประมาณ 12-18 เซนติเมตร ลำต้นสีน้ำตาลแก่ ทรงพุ่มของต้นเตี้ยขยายกิ่งก้านสาขาออกด้านข้างสูงประมาณ 10 เมตร
หมากเม่าพันธุ์ตาควาย
             เจ้าของต้นพันธุ์คือนายพุทธา คำเชียง บ้านสร้างค้อ หมู่ที่ 1 ตำบลสร้างค้อ อำเภอภูพาน จังหวัดสกลนคร ผู้ขยายต้นพันธุ์คือนายขาน แก้วอุ่นเรือน ลักษณะประจำพันธุ์คือ ใบแคบเรียวเล็กยาว ใบห่าง ยอดมีสีเหลืองอ่อน ผลมีขนาดใหญ่กว่าทุกพันธุ์ ช่อผลยาวประมาณ 12-17 เซนติเมตร  ผลมีรสหวานอมเปรี้ยว  เนื้อผลหนาแน่นไม่เละง่ายมีน้ำในผลปานกลาง สะดวกต่อการขนย้ายในระยะไกลๆ ข้อเสียคือผลเวลาสุกเต็มที่ ขั้วผลไม่เหนียวหล่นง่าย ช่อผลมีจำนวนผลน้อย  เพราะมีขนาดของผลใหญ่
และห่าง  สาเหตุที่เรียกหมากเม่าพันธุ์ตาควาย เพราะผลหมากเม่ามีขนาดใหญ่เปรียบเทียบเท่าลูกตาควาย
หมากเม่าพันธุ์ภูโซง
             เจ้าของต้นพันธุ์คือนายเก่ง ดวงสุทา บ้านนายอ อำเภอภูพาน จังหวัดสกลนคร ลักษณะใบกว้างยาวใหญ่สีเขียวแก่ ใบห่าง ยอดสีแดงอ่อน  มีลายจุดที่ผิวเปลือก ผลมีขนาดใหญ่เกือบเท่าพันธุ์ตาควาย สุกพร้อมกันทั้งช่อ รสหวานฝาด ช่อผลยาวประมาณ 12-18 .อายุของต้นแม่ประมาณ 150 ปีถือว่าเป็นต้นพันธุ์ที่มีอายุมากกว่าทุกต้นที่ค้นพบ
หมากเม่าพันธุ์ลมพัด
             เจ้าของต้นพันธุ์คือนายซว้าน ลมพัด บ้านนายอ อำเภอภูพาน จังหวัดสกลนคร ลักษณะใบมนกว้างยาวมีสีเขียวแก่แข็ง ใบหนาดก ลำต้นสีน้ำตาล กิ่งอ่อนมีสีเขียว ผลกลมใสขนาดกลาง ติดผลดกทุกปี ช่อผลยาวประมาณ 15-17 เซนติเมตร ผลสุกดำพร้อมกัน รสหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย
หมากเม่าพันธุ์สร้างค้อ 2
               เจ้าของต้นพันธุ์ไม่ทราบชื่อผู้นำสายพันธุ์มาคือนายทองเว เพียรภายลุน นำมาจากบ้านบัว อำเภอกุดบาก จังหวัดสกลนคร ลักษณะใบมนกว้างยาวใหญ่ ใบห่าง กิ่งและลำต้นมีสีน้ำตาลอ่อน และกิ่งอ่อนมีจุดลายเป็นแถวยาวที่ผิวเปลือก ยอดมีสีแดงอ่อน ผลกลมใหญ่สุกดำพร้อมกันทั้งช่อ มีรสหวาน ช่อผลยาวประมาณ 15-22 เซนติเมตร
หมากเม่าพันธุ์สร้างค้อ 3
                เจ้าของต้นพันธุ์ไม่ทราบชื่อ ผู้นำสายพันธุ์มาคือนายทองเว เพียรภายลุน นำมาจากบ้านชาด อำเภอนาคู จังหวัดกาฬสินธุ์ ลักษณะใบมนกว้างสั้นเกือบเท่าใบโพธิ์ ยอดมีสีเหลืองอ่อน ผลใหญ่กลมขั้วผลสั้น ผลยังไม่แก่จัดมีสีขาวอ่อน ช่อผลยาวประมาณ 15-18 เซนติเมตร เมื่อเริ่มแก่เปลี่ยนเป็น
สีแดงอ่อนและสุกเต็มที่มีสีดำ มีรสหวานอมเปรี้ยว
หมากเม่าพันธุ์สอ วรรณสังข์
                เจ้าของต้นพันธุ์คือนายสอ วรรณสังข์ ลักษณะใบกว้างยาวใหญ่สีเขียวแก่ ใบห่าง มีใบเล็กแทรกขนาดเรียวเล็กยาวเกือบศอก ใบหนา ยอดสีเขียวอ่อน ลำต้นสีน้ำตาลแก่ มีลายจุดตามผิวเปลือก ผลมีขนาดใหญ่ขั้วผลสั้นผลถี่ ผลดก ผลยังอ่อนมีสีขาวอ่อน เนื้อหนามีรสหวาน 
ช่อผลยาวประมาณ  15-20 เซนติเมตร

การขยายพันธุ์

การขยายพันธุ์หมากเม่าทำได้หลายวิธีเช่น เพาะเมล็ด ติดตา ทาบกิ่ง เสียบยอด แต่การขยายพันธุ์ที่ทำให้ไม่กลายพันธุ์ และสามารถให้ผลิตได้เร็วคือวิธีทาบกิ่ง และเสียบยอด ซึ่งการขยายพันธุ์หมากเม่าทั้ง 2 วิธีนี้ เกษตรกรกำลังเป็นที่นิยมกันมากในเขตพื้นที่ตำบลสร้างค้อ โดยเฉพาะนายขาน แก้วอุ่นเรือน
            นายทองเว เพียรภายลุน ซึ่งทั้งสองคนเป็นสมาชิกกลุ่มหมากเม่าภูโซงสร้างค้อ สามารถผลิตกิ่งพันธุ์ได้ปีละหลายพันต้น แต่ไม่พอกับความต้องการของเกษตรกร
            ในปัจจุบัน ราคากิ่งพันธุ์จำหน่ายตามท้องตลาดขายผลผลิตการเกษตรสร้างค้อกิ่งทาบราคา 40-100 บาท กิ่งติดตาราคา 80- 150 บาท กิ่งเสียบยอด25-40 บาทกิ่งเสริมรากราคา 150-300 บาท ส่วนตันตอที่เพาะด้วยเมล็ดราคาถุงละ 5-15 บาท ราคานี้ขึ้นอยู่กับขนาดของกิ่งพันธุ์ด้วย

วิธีปลูกและดูแลรักษาหมากเม่า

การปลูกหมากเม่าเป็นไม้ผลที่ปลูกง่าย ควรปลูกในช่วงต้นฤดูฝน ประมาณปลายเดือนเมษายน 
ถึงเดือนมิถุนายน ถ้าปลูกก่อนน่านี้หรือหลังจากนี้ 
        อาจทำให้ขาดน้ำหรือน้ำมีมากเกินไป ทำให้ต้นพันธุ์หมากเม่าเจริญเติบโตไม่ทันปรับสภาพตัวเองไม่ทัน จะทำให้ต้นพันธุ์ตายได้ หมากเม่าไม่ชอบดินที่มีน้ำขัง
        ขุดหลุมกว้าง+ยาว+ลึก ประมาณ 30+30+30 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างต้นกับแถวปลูกประมาณ 6+6 เมตร แยกดินบนดินล่าง รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอก
        ประมาณ 3-4 กิโลกรัม ผสมกับปุ๋ยเคมีสูตร 46-0-0 หรือปุ๋ยเกลือประมาณ 1-2 ช้อนแกง นำดินบนลงไปคลุกเคล้ากับปุ๋ยทั้งสองชนิดให้ได้ 2 ส่วนของหลุม 
        นำต้นพันธุ์ลงปลูกโดยฉีกถุงดำออกตั้งตรงกึ่งกลางหลุม ปักยึดด้วยหลักไม้มัดให้แน่นกลบด้วยดินที่เหลือ รดน้ำให้ชุ่มพอประมาณ และควรป้องกันศัตรูที่มาทางราก
        คือปลวก เสี้ยนดิน หนอนเจาะโคนต้น ด้วยสารฟูราดานเม็ดสีม่วง รวยบนหน้าดินแล้วพรวนดินกลบ หรือผสมน้ำลาดรอบโคนต้น ซึ่งสารเคมีชนิดนี้ป้องกันศัตรูพืช
        ได้ทั้งในดินและอากาศ ถ้าเป็นกิ่งพันธุ์ทาบกิ่งหรือเปลี่ยนยอดปลูกแล้วประมาณ 1 เดือน ให้นำมีดมาตัดผ้าพลาสติกที่พันยึดกิ่งพันธุ์ออก ถ้าไม่นำออกจะทำให้
        รอยพันพลาสติกรัดกิ่งพันธุ์และหักได้ภายหลัง หลังจากนั้นควรใส่ปุ๋ยคอกขี้ไก่ที่ซื้อมาจากฟาร์มเลี้ยงไก่หรือปุ๋ยเคมีตามความจำเป็น ในฤดูแล้งควรหาเศษวัชพืช
        คลุมโคนต้นเพื่อป้องกันการคลายน้ำจากผิวดิน ส่วนในฤดูฝนควรกำจัดวัชพืชบริเวณโคนต้นให้โล่งเตียนอยู่เสมอ เพราะหมากเม่ามีเปลือกรสหวานศัตรูประเภทหนอน
        แทะเปลือกและเจาะลำต้นจะระบาดในช่วงนี้ เมื่อปลูกได้ประมาณปีที่ 2 จะติดผลให้ได้ชิมถ้าดูแลรักษาให้ดี  เมื่อต้นหมากเม่ามีอายุย่างเข้าปีที่ 3 แล้วควรเปลี่ยนปุ๋ยคอก
        ผสมกับปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 จำนวน 2-3 กำมือต่อต้นต่อปี และให้เพิ่มจำนวนปุ๋ยมากขึ้นตามอายุของต้นหมากเม่าด้วย ซึ่งพืชจะสามารถนำแร่ธาตุไปบำรุงทั้งดอกและผล นอกจากนี้เพื่อเตรียมอาหารที่จะให้ติดผลในอนาคต เมื่อเก็บผลผลิตแล้วควรแต่งกิ่งให้ต้นโปร่งปีละ 1 ครั้ง

โรคและศัตรูหมากเม่า

1.โรคของหมากเม่า
                          หมากเม่าเป็นไม้พื้นเมือง จึงมีความทนทานต่อโรคและแมลงสูง ไม่ค่อยพบโรคมา รบกวนเท่าที่ควร ส่วนใหญ่จะมีเฉพาะโรคโคนเน่าและรากเน่า 
                   ซึ่งมีสาเหตุมาจากเชื้อรา ที่เกิดจากความชื้นแฉะของน้ำที่ท้วมขังในที่ราบลุ่ม ทำให้โคนหรือรากเน่าวิธีแก้ไขและป้องกันคือ ระบายน้ำออกอย่าให้น้ำท่วมขัง
                   หรือชื้นแฉะและพ่นด้วยสารเคมีจำพวกป้องกันเชื้อรา
2.ศัตรูของหมากเม่า
           2.1.หนอนเจาะลำต้นและกิ่ง
                        ลักษณะของตัวหนอนเมื่อแก่เต็มวัย ลำตัวมีสีชมพูแดงยาวประมาณ 2 ..มีขนสีแดงขึ้นตามลำตัว ลำตัวมี 9 ปล้อง ส่วนหัวและก้นมีสีเหลืองคาดดำ ปากมีสีแดง โดยจะเริ่มจากการวางไข่ของตัวหนอนแก่เต็มวัย บริเวณเปลือกของต้นหมากเม่าที่ขรุขระ เมื่อฟักเป็นตัว ตัวหนอนจะเจาะกินเปลือกเข้าไปในลำต้นและทำลายไร้ทิดทาง ส่งผลให้ท่อน้ำท่ออาหารขาด  ต้นหมากเม่าจะแสดงอาการเหี่ยวและใบเหลืองแห้งตายกะทันหัน ลำต้นจะหักพับลง หนอนชนิดนี้ระบาดได้ตลอดปี โดยเฉพาะในฤดูแล้งหลังจากหมดฤดูฝน
                  การป้องกันกำจัด
                 1.ตัดแต่งกิ่งให้โปร่งอยู่เสมอ ให้แสงแดดส่องถึงโคนต้น
                 2.ถ้าพบรอยผิวขรุขระหรือมีรอยแตกแยกหรือมีรูเจาะบริเวนโคนต้นหรือลำต้นให้สารเคมีกำจัดหนอนและแมลงชื่อเชนไดร้ท์ชนิดกระป๋องที่มีหัวฉีดยาวประมาณ 22 เซนติเมตรฉีดพ่นตรงบริเวณที่พบ จะทำให้ตัวหนอน และดักแด้ตาย
                 3.ทาโคนต้นหรือลำต้นด้วยสารกำจัดแมลงที่มีกลิ่นฉุนเช่น น้ำมันเครื่องเก่า
                 4.ใช้สารเคมีประเภทดูดซึมรวยรอบโคนต้นแล้วพรวนดินกลบเช่น ฟูราดาน
           2.2.หนอนเจาะเปลือก
                        ลักษณะของตัวหนอน ลำตัวเป็นปล้องๆยาว 3- 6 เซนติเมตร มีสีเหลืองอ่อนหัวมีขนาดใหญ่กว่าลำตัว ปากและก้นมีสีดำ ตัวหนอนจะกัดกินเนื้อเยื่ออ่อนๆและไชกัดกินเนื้อไม้ท่อน้ำท่ออาหารแบบชนิดไร้ทิศทาง จะสังเกตเห็นได้ง่ายคือ สิ่งขับถ่ายออกมาเป็นก้อนๆคล้ายขี้เลื่อยตกอยู่ตามพื้นดิน
การป้องกันกำจัด ให้ปฏิบัติตามการป้องกันกำจัดของข้อ 2.1.
            2.3.ด้วงหนวดปมลายจุดเหลืองดำ
                         ลักษณะของตัวด้วง ลำตัวยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร มีสีลายจุดเหลืองดำ มีหนวดเป็นปมลายเหลืองดำ 1 คู่ ตัวผู้จะมีขนาดเล็กกว่าตัวเมีย ด้วงจะแทะกัดกินเปลือกบริเวณกิ่งอ่อน ในเวลาตอนเช้ามืด เมื่อกัดกินอิ่มแล้วจะบินหนีไป บริเวณกิ่งอ่อนที่แทะจะเหี่ยวเฉาและแห้งตาย ด้วงชนิดนี้จะระบาดในฤดูฝนเท่านั้น
                การป้องกัดกำจัด
                        1.ในเวลาตอนเช้าให้หมั่นเดินตรวจสอบดูบริเวณกิ่งปลายยอดบ่อยๆ ถ้าพบให้ใช้ไม้สอยจับทำลาย
                        2.ฉีดพ่นด้วยสารเคมีบริเวณปลายยอดกิ่งสัปดาห์ละ 1 ครั้งเช่น เซฟวิน 85%
          2.4.แมลงกัดกินยอดอ่อน หนอนม้วนใบ หนอนกระโดด เพลี้ยหอยและแมลงกินใบ
                         หนอนและแมลงพวกนี้จะระบาดในช่วงฤดูฝน จะเข้าทำลายในใบและยอดอ่อนเท่านั้น จึงสามารถกำจัดได้ง่าย โดยใช้สารเคมีประเภทถูกตัวตายฉีดพ่นสัปดาห์ละ 1 ครั้งเมื่อมีการระบาด

การแปรรูปหมากเม่า

แยมหมากเม่า
ไวน์หมากเม่า
น้ำหมากเม่า
ชาหมากเม่า
การนำผลหมากเม่ามาแปรรูปทำได้หลายวิธีด้วยกันเช่น ภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวบ้านในอดีต นำผลสดมาตำใส่เครื่องปรุงรับประทานซึ่งเรียกว่า “กินส้ม” หรือนำผลสุกมาคั้นเอาน้ำดื่มเป็นยาสมุนไพรแก้ท้องอืดท้องเฟื้อและเป็นยาระบาย แต่ในปัจจุบันการแปรรูปนำมาทำน้ำผลไม้พร้อมดื่ม แยมหมากเม่า หมากเม่าผง หมากเม่ากวน ลูกอมหมากเม่า และที่มีชื่อเสียงที่สุดในขณะนี้คือ การนำผลหมากเม่าสุกมาทำสุราแช่หรือไวน์ ซึ่งได้มีสถาบันทางการศึกษาหลายแห่งได้ทำวิจัย ทำให้ทราบว่าการดื่มไวน์หมากเม่าทุกวันๆละ2-3 แก้ว(83 มล.)ก่อนรับประทานอาหารจะทำให้เจริญอาหารสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง โดยเฉพาะคนที่มีโรคความดันโลหิตต่ำ โรคคอเลสตอรอน และผลงานวิจัยของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติที่พบล่าสุดคือ หมากเม่ามีผลไปกระตุ้นสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกายให้คนที่เป็นโรคเอดส์ได้อีกด้วย 
น้ำหมากเม่าพร้อมดื่ม
น้ำหมากเม่าพร้อมดื่ม มีส่วนผสม ของน้ำตาล 25 %
ราคาส่ง ขนาด 300 ml. ขวดละ 30บาท โหลละ 325 บาท
ขนาด 500 ml. ขวดละ 45 บาท โหลละ 510 บาท
ราคานี้ไม่รวมค่าจัดส่ง